
การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่และลูก
การตั้งครรภ์กินเวลานานประมาณ 40 สัปดาห์ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 3 ช่วง แต่ละช่วงเรียกว่าไตรมาส ร่างกายของผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์จะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละไตรมาส
ไตรมาสแรก (สัปดาห์ที่ 1-13)
เดือนที่ 1
เมื่อเริ่ม ตั้งครรภ์ ซึ่งบางครั้งคุณอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายของคุณจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลหลายอย่างตามมา เช่น เต้านมของคุณจะนิ่มลงและขยายใหญ่ขึ้น เหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน และอยากรับประทานอาหารแปลกๆ
เดือนที่ 2
เมื่อตั้งครรภ์ได้ห้าสัปดาห์ คุณมักจะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หน้าอกของคุณจะขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิม หัวนมและบริเวณหัวนม (ปานนม) จะขยายใหญ่ขึ้นและกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อน คุณอาจรู้สึกเหนื่อยมาก ดังนั้น ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์จึงควรพักผ่อนเยอะๆ ในช่วงนี้
เดือนที่ 3
ผู้หญิงหลายคนไม่พบปัญหาใดๆ ตอนอายุครรภ์เท่านี้ แต่บางคนอาจจะรู้สึกเวียนหัวเล็กน้อย หน้ามืด และอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เมื่อตั้งครรภ์เกือบครบสามเดือน หลายคนจะมีอาการคลื่นไส้ตอนเช้า ซึ่งคุณจะเริ่มรู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆ จนสนุกกับการตั้งครรภ์ต่อไปได้ ในช่วงนี้ ผิวหนังของคุณจะเปลี่ยนไปด้วย โดยคุณจะเริ่มเป็นสิวและเป็นฝ้า
ไตรมาสที่สอง (สัปดาห์ที่ 14-26)
เดือนที่ 4
ในเดือนนี้ คุณมักจะรู้สึกถึงการคงอยู่ของลูกน้อยได้เพราะพวกเขาจะเริ่มขยับ เตะ หรือต่อย ไม่ต้องกังวลหากลูกน้อยของคุณไม่ขยับตัวเพราะพวกเขาอาจจะอยากพักผ่อนและจะเคลื่อนไหวในไม่ช้า เต้านมของคุณจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น คุณจึงต้องหาบราที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดเต้านมของคุณ
เดือนที่ 5
ในเดือนนี้ ผิวบริเวณท้องของคุณจะเริ่มคันเพราะผิวหนังกำลังขยายใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ หัวนมของคุณจะใหญ่ขึ้นด้วย คุณอาจต้องไปเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะบ่อยกว่าเดิม และยังอาจมีอาการปวดหลัง ขาเป็นเหน็บ ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาตอนดึก
เดือนที่ 6
ในตอนนี้ คุณจะมีอาการปวดหลังบ่อยขึ้น และจะรุนแรงขึ้นเมื่อทารกในครรภ์ตัวใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ คุณยังอาจรู้สึกไม่สบายตัวบริเวณอุ้งเชิงกรานและบริเวณสะโพกเพราะเส้นเอ็นที่ยึดมดลูกของคุณจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้คุณรู้สึกปวด เมื่อถึงตอนนี้ คุณจะสังเกตได้ว่าข้อเท้าของคุณจะเริ่มบวม
ไตรมาสที่สาม (สัปดาห์ที่ 27-40)
เดือนที่ 7
ในเดือนนี้ หน้าท้องของคุณอาจจะเริ่มแตกลาย แต่ก็ไม่แน่เสมอไป หน้าท้องของผู้หญิงบางคนแทบไม่แตกลายเลย ส่วนบางคนจะมีลายเส้นเป็นน้ำตาลหรือสีแดง แต่หลังคลอด ลายเหล่านี้จะหายไป นอกจากนี้ คุณยังอาจจะรู้สึกปวดหลังช่วงล่างไปจนถึงก้นและขา เราเรียกอาการนี้ว่า อาการปวดร้าวลงขา เราขอให้แนะนำให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์นอนพักบนเตียง อาบน้ำอุ่น หรือประคบร้อนบริเวณที่ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด โรคริดสีดวงทวารสามารถพบได้บ่อยๆ ในผู้หญิงที่มีอายุครรภ์เจ็ดเดือน โรคนี้สังเกตได้จากเส้นเลือดรอบช่องทวารหนักบวม ซึ่งรักษาได้โดยการหลีกเลี่ยงการอั้นอุจจาระและอาการท้องผูก พยายามขยับเคลื่อนไหวให้มากที่สุดถ้าทำได้ และอาบน้ำอุ่นเป็นประจำทุกวันหากรู้สึกเจ็บ คุณจะนอนหลับได้ยากขึ้นและการหาท่านอนที่สบายตัวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เดือนที่ 8
ในช่วงนี้ คุณอาจจะเริ่มสังเกตเห็นน้ำนมไหลออกมาจากหัวนม น้ำนมดังกล่าวจะมีสีเหลืองและไหลออกมาเป็นเรื่องปกติและเป็นน้ำนมที่ลูกน้อยดื่มกินในช่วงสองสามวันแรกของชีวิต คุณจะเริ่มรู้สึกว่ามดลูกบีบตัว (Braxton-Hicks contractions) ซึ่งมักจะเรียกกันว่า ‘อาการเจ็บท้องหลอก’ อาการนี้มักไม่เจ็บปวด แต่จะทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัว และอาจเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เมื่อคุณเคลื่อนไหว และจะลดความถี่ลงตอนคุณพักผ่อน อาการเหนื่อยล้าตอนเริ่มตั้งครรภ์จะกลับมาอีกครั้ง คุณอาจรู้สึกว่าหายใจเหนื่อยหอบเล็กน้อยเหมือนตอนออกกำลังกาย ทั้งนี้เป็นเพราะขณะที่ลูกน้อยของคุณเติบโตขึ้นนั้น พวกเขาจะดันชายโครงของคุณขึ้นด้วย สาเหตุอีกหนึ่งประการคือ ฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนบริเวณศูนย์กลางการหายใจของร่างกาย
เดือนที่ 9
ในระยะนี้ ไม่ต้องตกใจหากคุณเริ่มเห็นสะดือนูนขึ้นมา นอกจากนี้ เมื่อลูกน้อยเลื่อนศีรษะเข้าสู่อุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมตัวลืมตาออกมาดูโลก (เรียกว่าช่วงที่ศีรษะทารกเข้าสู่อุ้งเชิงกราน หรือ ‘engaging’) คุณจะหายใจได้สะดวกขึ้น แต่อาจต้องไปเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าเดิมและรู้สึกว่ามีแรงกดหรืออาการเสียวแปลบบริเวณปากช่องคลอด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ